เห็ดฟาง 

ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล
ผู้เชี่ยวชาญเห็ด(อาวุโส) องค์การสหประชาชาติ ปี 2524-2548
ผู้อำนวยการ อานนท์ไบโอเทค

1. เห็ดฟาง-ลักษณะทั่วไป
เห็ดฟาง เป็นเห็ดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในสภาพอากาศร้อนชื้น ตามกองวัสดุการเกษตรที่เน่าเปื่อยผุพัง ชาวจีนที่อาศัยอยู่แถวบริเวณซังฮี้ ที่มีอาชีพในการกระเทาะเมล็ดบัวขาย ได้นำเอาเปลือกเมล็ดบัวมากองสลับกับฟาง และรดน้ำด้วยน้ำซาวข้าว ก็จะมีเห็ดเกิดขึ้นเอง โดยเรียกเห็ดที่เกิดจากการใช้เปลือกเมล็ดบัวว่า เห็ดบัว จนกระทั่ง ปี 2489 อาจารย์ก่าน ชลวิจารณ์ ได้เป็นผู้ทำเชื้อเห็ดฟางบริสุทธิ์ แล้วนำไปเพาะกับฟาง ได้เป็นผลสำเร็จ จึงเปลี่ยนชื่อ จากเห็ดบัวมาเป็นเห็ดฟาง ด้วยความที่ เห็ดฟาง เป็นเห็ดที่มีโปรตีนและเกลือแร่ค่อนข้างสูง การเจริญเติบโตจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว บานเร็ว และเน่าเร็ว จึงเหมาะที่จะนำไปเป็นอาหารทันที ไม่ควรเก็บไว้นาน ยกเว้นทำการแปรรูป เช่น ทำเป็นเห็ดฟางกระป๋อง หรือ เห็ดฟางตากแห้ง

2. เห็ดฟาง-คุณค่าทางอาหารและยา
เห็ดฟาง เป็นเห็ดที่มีโปรตีนสูงมาก หากนำเอาเห็ดฟางแห้งมาวิเคราะห์คุณค่าทางอาหาร พบว่า เกือบครึ่งของน้ำหนักเห็ดฟาง เป็นโปรตีน ที่เหลือ คือ เยื่อใยและกาก ที่ประกอบไปด้วยเกลือแร่และวิตามินที่มีประโยชน์ นอกจากนี้ ยังพบว่า เห็ดฟางมีสารสำคัญหลายชนิด ที่ช่วยลดอนุมูลอิสระได้ ซึ่งถือว่า เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันมะเร็ง สารสำคัญอันได้แก่ Triterpenoid and Flavonoids สามารถช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเซลมะเร็งหลายชนิดได้ รวมทั้งมะเร็งต่อมน้ำเหลือง นอกจากนี้ ยังพบว่า สารสกัดจากเส้นใยเห็ดฟางด้วยแอลกอฮอล สามารถลดกรดไขมันชนิดเลว(LDL) และเพิ่มกรดไขมันชนิดดี HDL) ในร่างกายได้เป็นอย่างดี

3. เห็ดฟาง-เชื้อเห็ดฟาง
อาจารย์ก่าน ชลวิจารณ์ ซึ่งถือว่า เป็นปรมาจารย์เห็ดของประเทศไทย เป็นผู้ที่ทำการเพาะเชื้อเห็ดฟางเป็นผลสำเร็จคนแรกของโลก เมื่อปี พ.ศ. 2489 โดยดัดแปลงกรรมวิธีการทำเชื้อเห็ดกระดุมหรือเห็ดแชมปิญอง ที่ใช้ขี้ม้าผสมฟางหมัก แต่ท่านอาจารย์ได้ใช้ขี้ม้าหมักผสมกับเปลือกเมล็ดบัว ที่ชาวจีนนิยมใช้เปลือกเมล็ดบัวผสมในการเพาะเห็ดฟางแบบกึ่งธรรมชาติมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เดิม การทำเชื้อเห็ดนั้น จะเริ่มจากการทำเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากสปอร์เสียก่อน เมื่อได้เส้นใยเห็ดที่งอกจากสปอร์แล้ว จะต้องนำเอามาผสมพันธุ์เสียก่อน จึงจะนำเอาไปทำเป็นเชื้อเห็ดที่จะนำไปเพาะต่อไป แต่การทำเชื้อเห็ดจากสปอร์นั้น นอกจากจะยุ่งยาก สลับซับซ้อนและใช้เครื่องมือหลายอย่างแล้ว ผลที่ออกมา อาจจะไม่ตรงตามสายพันธุ์ เช่นเดียวกับการเพาะต้นไม้ด้วยเมล็ด แต่สิ่งที่ อ.ก่านทำได้สำเร็จและถือว่า เป็นจุดเริ่มต้น การพัฒนาวงการเห็ดของไทยจวบจนปัจจุบันนี้ คือ การทำเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากเนื้อเยื่อ ด้วยการตัดเอาเนื้อดอกเห้ดไปเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อบริสุทธิ์ แล้วนำไปเพาะเลี้ยงในขี้ม้าหมักผสมกับเปลือกเมล็ดบัว เพื่อจะนำเอาไปเพาะเป็นดอกเห็ดฟางต่อไป เปรียบเทียบกับการปลูกพืช ก็คือ การปลูกพืชด้วยกรรมวิธีการตอน ติดต่อ ต่อกิ่ง หรือทาบกิ่งนั่นเอง

4. เห็ดฟาง-การทำเชื้อเห็ดฟางในยุคปัจจุบัน
มีใครบ้างเอ่ยที่จะรู้ว่า เมื่อปี 2515 ประเทศไทย ยังนำเห็ดจากต่างประเทศเข้ามาบริโภค แต่แค่อีก 4-5 ปีต่อมา ด้วยพลังของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่รวมกันตั้งเป็นชมรมเห็ด ได้ส่งเสริมให้มีการเพาะเห็ดฟางกันอย่างจริงจัง ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ผลิตเห็ดฟางมากที่สุดในโลก โดยผลิตปีละ 60,000 ตันในสมัยนั้น และปัจจุบัน ก็ยังครองความเป็นเจ้าโลกด้วยการผลิตเห็ดฟางได้ปีละมากกว่า 450,000 ตัน แน่นอน หัวใจสำคัญของการเพาะเห็ดฟาง ก็คือ เชื้อเห็ดฟางนั่นเอง แม้ว่า สูตรที่ อ.ก่านได้ทำการแนะนำส่งเสริมเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว โดยใช้ขี้ม้าหมักผสมกับเปลือกเมล็ดบัว เป็นสูตรที่ดีที่สุด แต่สภาวะปัจจุบัน การที่จะหาขี้ม้าและเปลือกเมล็ดบัวมาทำเชื้อเห็ดฟางนั้น เป็นไปแทบไม่ได้เลย เพราะหายากและราคาแพงมาก ขณะที่ความต้องการเชื้อเห็ดฟางเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบัน ความต้องการเชื้อเห็ดฟางไม่ต่ำกว่าปีละ 500 ล้านถุง ดังนั้น การทำเชื้อเห็ดฟางปัจจุบัน ก็ยังใช้กรรมวิธีเพาะเชื้อบริสุทธิ์จากเนื้อเยื่อจากดอกเห็ดฟาง แล้วนำไปเพาะในปุ๋ยหมักที่ทำจากวัสดุที่ย่อยง่าย สลายเร็ว เช่น ฟางสับ ต้นกล้วยสับ ขี้ฝ้าย ไส้นุ่น เปลือกถั่ว เปลือกมัน กากน้ำมันปาล์ม หรือขี้เค้กจากโรงงานน้ำตาล จะใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างหมักผสมรวมกัน แล้วนำไปบรรจุถุงพลาสติกทนร้อน ก่อนนำเอาไปนึ่งฆ่าเชื้อ หลังจากนั้น เมื่อทำให้เย็นแล้ว จึงเขี่ยหัวเชื้อเห็ดฟางบริสุทธิ์เข้าไป บ่มไว้ 7-10 วัน ก็สามารถนำไปใช้ได้แล้ว

5. เห็ดฟาง-เชื้อเห็ดฟางที่ดี
ผู้เพาะเห็ดฟางจำนวนมาก เข้าใจผิด คิดว่า เชื้อเห็ดฟางที่ดีนั้น จะต้องมีเส้นใยสีขาวฟู จับกันหนาแน่น จริงๆแล้วอาจจะไม่เป็นไปอย่างที่คิด เพราะเชื้อเห็ดฟาง ที่มีการต่อเชื้อยิ่งบ่อย เส้นใยของเห็ดฟางจะคุ้นหรือปรับตัวเข้ากับอาหารที่ใช้ทำเชื้อ ทำให้เส้นใยของเห็ดฟาง เจริญงอกงามดี มักจะมีสีขาวฟู จับกันหนาแน่น แต่เมื่อนำเอาไปทำการเพาะ แม้ว่า เส้นใยจะเจริญเติบโตดี เส้นใยเป็นสีขาวจำนวนมาก แต่จะรวมตัวกันเป็นดอกน้อยหรือแทบไม่ได้ผลผลิตเลย ลักษณะเช่นนี้ ที่เรียกว่า เชื้ออ่อนหรือเชื้อเป็นหมัน อันเนื่องจาก ผู้ผลิตเชื้อ ทำการตักต่อมากเกินไป เชื้อเห็ดฟางที่ดีนั้น จะมีลักษณะหยาบๆ สีน้ำตาลอ่อน ไม่ขาวฟู ไม่เกิดดอกในถุงก่อนกำหนด เมื่อเส้นใยเดินเต็มถุงหรือเต็มภาชนะแล้ว หากเก็บไว้ต่อไป และถูกแสงพอสมควร เส้นใยเห็ดจะรวมตัวกันเป็นดอกบริเวณปากถุง ดอกเห็ดที่เกิดขึ้นในถุง จะต้องเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์ แม้ว่าจะมีขนาดเล็กก็ตาม ด้วยเหตุนี้ วิธีการตรวจสอบว่า เชื้อเห็ดฟางที่ซื้อมาจะดีหรือไม่ดีนั้น ต้องเอาเชื้อเห็ดมาเก็บไว้จนแก่ แล้วสังเกตว่า มันจะต้องรวมตัวกันเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์อยู่บริเวณปากถุง แสดงว่า เชื้อเห็ดจากผู้ผลิตรายนี้ เป็นเชื้อเห็ดฟางที่มีคุณภาพใช้ได้

6. เห็ดฟาง-การเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง
อาจารย์ก่าน ชลวิจารณ์ ได้ไปเห็นชาวจีนแถวบริเวณสะพานซังฮี้เพาะเห็ดบัว ตอนหลังเรียกเห็ดฟาง ด้วยการนำเอาเปลือกเมล็ดบัวมากองสลับกับตอซังจากฟางข้าว แล้วรดน้ำด้วยน้ำซาวข้าว หรือน้ำผสมปัสสาวะ อีกไม่นานก็จะมีเห็ดบัวเกิดขึ้น หลังจากที่ อ.ก่าน ได้ทำเชื้อเห็ดฟางจากเนื้อเยื่อ เพาะเลี้ยงในขี้ม้าหมักผสมเปลือกเมล็ดบัวได้สำเร็จแล้ว ท่านจึงได้ทำการเพาะเห็ดฟาง ด้วยการนำเอาตอซังถอน หลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว 1-2 เดือน มัดกันเป็นฟ่อนๆละขนาดคนโอบมา 40-60 ฟ่อน ด้วยการนำฟางไปแช่น้ำไว้ 1-2 คืน แล้วนำเอามาวางเรียงกัน ให้โคนของตอซังเสมอกันให้หนาประมาณ 1 ฝ่ามือ แล้วทำการโรยเชื้อเห็ดตรงขอบใกล้กับโคนของตอซังห่างเข้าไปประมาณ 1 ฝ่ามือ ด้านตรงกันข้ามก็ปฎิบัติเช่นเดียวกัน โดยเอาส่วนที่เป็นโคนของตอซังไว้ด้านนอก ให้ส่วนปลายทับกันกับตอซังชุดแรก หากเป็นฤดูร้อน ความกว้างระหว่างหัวตอซังด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งประมาณ 40-50 ซม. แล้วก็โรยเชื้อเห็ดฟางเช่นเดียวกัน การทำเช่นนี้ทั้งสองด้าน ถือว่า ทำเสร็จชั้นที่ 1 แล้ว ชั้นที่ 2 ,3 และต่อๆไป ก็ทำเช่นเดียว แต่ทำทับกับชั้นแรก หนาก็เท่าๆกัน ในกรณีที่เป็นฤดูร้อน ทำเพียง 3 ชั้นก็พอ หรือจะได้ความสูงประมาณ 30-40 ซม. แต่หากเป็นฤดูหนาว ความกว้างของกอง จะต้องกว้างขึ้น คือ ประมาณ 50-60 ซม. และจำนวนชั้น อาจจะเป็น 4-5 ชั้น หรือสูงประมาณ 50-60 ซม. ชั้นสุดท้าย ให้โรยเชื้อเห็ดฟางทั่วผิวหน้า ก่อนใช้ฟางเปียกคลุมชั้นบนให้หนาประมาณ 1-2 นิ้ว ส่วนความยาว แล้วแต่ต้องการ ส่วนมากยาวประมาณ 3-4 เมตร หรือใช้ฟางประมาณ 30-40 ฟ่อน เมื่อทำกองเสร็จแล้ว รดน้ำให้เปียกโชก ทิ้งไว้ 3-4 วัน ให้ทำการเผากอง เพื่อทำความสะอาดกอง เผาเอาฟางที่ไม่เป็นระเบียบออก แล้วรดน้ำให้เปียกโชก คลุมกองด้วยฟางแห้ง หรือจากหรือหญ้าคา ประมาณ 7-10 วัน ก็จะมีดอกเห็ดเกิดขึ้น และจะมีผลผลิตให้เก็บไปได้เรื่อยๆประมาณ 4-6 สัปดาห์ ผลผลิตเห็ดที่ได้ประมาณ 10-15 กก.ต่อกอง


7. เห็ดฟาง-การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย
อ.ก่าน ชลวิจารณ์ ปรมาจารย์เห็ดไทย ได้ทำการเปิดอบรม การเพาะเห็ดฟางแบบกองสูงขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2491 โดยมีเกษตรกรเพาะเห็ดฟางแบบกันสูงกันมากแถวภาชี อยุธยา หนองแขมและกระทุ่มแบน และแถวหลังวัดลาดปลาเค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพาะหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว แต่ระยะหลัง การใช้ตอซังจากข้าว ที่ต้องใช้ตอซังจำนวนมากนั้น นอกจากผลผลิตไม่แน่นอนแล้ว ยังใช้เวลานาน จึงได้มีการดัดแปลงกรรมวิธีให้ใช้ฟางน้อยลง จึงได้มีการลดขนาดของกองลง ด้วยการใช้ฟาง ใส่เข้าไปในกระบะขนาดกว้าง 20-30 ซม. สูง 30 ซม. ยาวประมาณ 80-100 ซม. สามารถใช้ได้ทั้งตอซังหรือฟางข้าวนวด ด้วยการนำเอาไปแช่น้ำก่อน 1-2 คืน แล้วจึงนำมาใส่ในกระบะไม้หรือบางคนเรียกว่าไม้แบบ บนพื้นดิน ใส่ฟางเข้าไปให้หนาประมาณ 1 ฝ่ามือ แล้วใส่อาหารเสริมเข้าไป โดยอาหารเสริมที่ใช้ ส่วนใหญ่ จะเป็นวัสดุที่ย่อยง่าย สลายเร็ว เช่น ขี้ฝ้าย ไส้นุ่น ผักตบชวา สดหรือแห้งก็ได้ ก่อนที่จะนำเอามาใช้เป็นอาหารเสริม ให้จุ่มน้ำให้อิ่มตัวเสียก่อน แล้วจึงนำไปใส่บริเวณขอบให้หนาประมาณ 3-5 ซม. แล้วจึงโรยเชื้อเห็ดฟางเข้าไปโดยรอบ ก็ถือว่า เสร็จการทำการเพาะชั้นแรกแล้ว การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย นิยมทำกันประมาณ 3 ชั้น โดยลักษณะเดียวกับชั้นแรก เพียงแต่ชั้นที่สองหรือถัดไป จะทำเช่นเดียวกัน บนชั้นแรก เมื่อครบ 3 ชั้นแล้ว ชั้นสุดท้าย โรยเชื้อให้ทั่วผิวหน้า แล้วใช้ฟางเปียกคลุมชั้นสุดท้ายให้หนาประมาณ 2-3 ซม. ก่อนที่จะถอดเอากระบะไม้ออก การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย จะประหยัดฟางหรือวัสดุเพาะลงไปได้อย่างมาก กล่าวคือ ใช้เพียง 1-2 ฟ่อนต่อกองเท่านั้น แต่เนื่องจาก เป็นกองที่มีขนาดเล็ก ดังนั้นหากทำเพียงกองเดียวหรือไม่กี่กิง ความชื้น อุณหภูมิ อาจจะไม่เพียงพอหรือเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดฟาง จึงนิยมทำหลายๆกอง ห่างกันประมาณ 1 คืบ หรือ 12-15 ซม. อย่างน้อย 7-10 กอง หลังจากทำกองได้ครบตามจำนวนที่ต้องการแล้ว ให้ใช้เสียมเฉาะผิวหน้าดินระหว่างร่องของแต่ละกอง พร้อมทั้งใส่อาหารเสริมและโรยเชื้อเห็ดฟางเข้าไปด้วย เพราะจะทำให้ได้ผลผลิตดอกเห็ดฟางบนดินด้วย รดน้ำให้เปียกโชก ก่อนที่จะคลุมด้วยผ้าพลาสติกและฟางให้หนา ทิ้งไว้ 6-7 วัน จึงทำการเปิดวัสดุคลุมและผ้าพลาสติกออกช่วงบ่าย ทำการรดน้ำด้านข้างรอบๆกอง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เส้นใยรวมตัวกันป็นดอก คลุมผ้าพลาสติกและวัสดุคลุมดังเดิม แต่ส่วนชายผ้าพลาสติก ควรเปิดให้อากาศผ่าน ทิ้งไว้อีก 2-3 วันก็จะมีดอกเห็ดฟางเกิดขึ้น สามารถเก็บผลผลิตได้ติดต่อกัน 3-5 วันก็จะหมด แต่ผลผลิตที่ได้ค่อนข้างสูง คือ ประมาณ 1-2 กก.ต่อกอง

8. เห็ดฟาง-การเพาะเห็ดฟางด้วยวัสดุอย่างอื่น
หลังจากมีการดัดแปลงการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยอย่างได้ผลแล้ว ทำให้เกิดอาชีพการเพาะเห็ดฟางขึ้นในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว ทั่วทุกมุมของประเทศ และจากที่นิสัยคนไทย เป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต และช่างดัดแปลง จึงได้มีการนำเอาวัสดุอีกหลายอย่าง ที่มีลักษณะที่เป็นวัสดุที่ย่อยง่ายสลายเร็ว เช่น ขี้ฝ้าย เปลือกถั่ว เปลือกมัน ทะลายปาล์มน้ำมัน ผักตบชวาทั้งแห้งหรือสดๆ ก้อนวัสดุเก่าที่เพาะเห็ดในถุงพลาสติกแล้วเป็นต้น โดยนำมาใช้แทนฟางที่นิยมใช้กันในอดีต ซึ่ง การใช้วัสดุดังกล่าว เป็นการใช้วัสดุที่เหลือใช้จากการเกษตร ให้กลับมีราคาค่างวดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ หลังจากที่นำมาทำการเพาะเห็ดแล้ว เส้นใยเห็ด หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยวัสดุเพาะ จะกลายเป็นปุ๋ยหมักชั้นยอด ที่สามารถนำคืนกลับสู่พิ้นดิน กลายเป็นปุ๋ยอย่างดีสำหรับพืช ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้อีกทางหนึ่ง ส่วนการที่นำเอาวัสดุที่ได้กล่าวมาแล้ว นำมาเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย กลับง่ายกว่า การใช้ฟาง ยกตัวอย่างเช่น การใช้เปลือกถั่ว เปลือกมันสำปะหลังมาเพาะแบบกองเตี้ยนั้น หากเป็นเปลือกถั่ว ให้นำมาแช่น้ำ 1-2 คืน แต่ถ้าเป็นกากมันควรกองให้เกิดการหมักไว้ประมาณ 10-15 วันเสียก่อน ขณะที่ทำการหมักนั้น ควรใส่เชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เช่น เชื้อไบโอวัน จะทำให้การหมักสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จากนั้น นำไปใส่ในกระบะขนาดกว้าง 12-15 ซม. สูง 10 ซม. แล้วโรยเชื้อเห็ดบนหลังกองเพียงชั้นเดียวก็พอ ก่อนที่จะถอดแบบพิมพ์ออก ทำหลายๆกองอย่างน้อยน 10-15 กอง โดยแต่ละกองห่างกัน 15-20 ซม. สำหรับอาหารเสริมนั้น ควรใช้พวกมูลสัตว์เก่า เช่น มูลวัว ความ หมู หรือไก่ โรยบนติดรอบๆกองและระหว่างกอง ใช้เสียมเฉาะพลิกฟื้นหน้าดินให้เป็นโพรงผสมคลุกเคล้ากับอาหารเสริม แล้วโดยเชื้อเห็ดบนดิน บนอาหารเสริมด้วย ทำการคลุมกองด้วยผ้าพลาสติกและวัสดุคลุมแดด เช่น ฟางแห้ง หญ้าคา หรือจากทับอีกที วันที่ 5-6 ทำการเปิดวัสดุคลุมและผ้าพลาสติกออก ทำการรดน้ำหรือที่เรียกว่า ตัดใย เพื่อกระตุ้นให้เส้นใยรวมตัวเป็นดอก จากนั้น คลุมผ้าพลาสติกและวัสดุกันแดด โดยการยกระดับผ้าพลาสติกให้สูงขึ้นประมาณ 20-30 ซม. เพื่อให้เส้นใยมีอากาศพอที่จะรวมตัวกันเป็นดอก อีกประมาณ 2-3 วัน ก็จะมีดอกเห็ดฟางพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้ โดยจะเก็บได้ติดต่อกัน 3-5 วัน ผลผลิตโดยเฉลี่ย 1-2 กก.ต่อกอง

9. เห็ดฟาง-การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยด้วยผักตบชวาสด
ผักตบชวาถือว่า เป็นวัสดุที่ย่อยง่ายสลายเร็ว แม้ว่าจะไม่ใช่พืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยมาก่อน แต่เป็นพืชที่นำมาจากต่างประเทศ เพราะคิดเพียงว่า เป็นพืชน้ำที่มีดอกสวย แต่พอนำมาปลูกแบบไม่ระมัดระวัง ผักตบชวาจึงแพร่กระจายทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว กลายเป็นปัญหาทำให้คู คลอง ปกคลุมไปด้วยผักตบชวา การสัญจรไปมาทางน้ำและการไหลของน้ำก็เป็นปัญหา ดังนั้น ปีๆหนึ่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องใช้เงินมากมายมหาศาลในการปราบหรือทำลายผักตบชวา แต่ก็ไม่มีวันที่จะสิ้นซาก จริงๆแล้ว หากสังเกตดูดีๆ ผักตบชวา น่าจะเป็นพืชที่มีคุณอนันต์ เพราะเป็นพืชใบกว้าง สามารถสร้างอากาศบริสุทธิ์ให้ธรรมชาติเพิ่มได้อย่างเป็นเลิศ และระบบรากเป็นแบบรากฝอย มันมีความสามารถในการกำจัดสิ่งปฎิกูลในน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง ที่สำคัญ มันใช้เวลาขยายตัวโดยเฉลี่ย จาก 1 เป็น 2 ได้ภายในเวลา 16 วันเท่านั้น ดังนั้น หากเรารู้จักที่จะนำมันมาใช้ประโยชน์ ซึ่งทางหนึ่ง สามารถนำเอามันมาเป็นวัสดุเพาะเห็ดฟางได้เป็นอย่างดี ก็นับว่า น่าจะเป็นช่องทางหนึ่ง ที่เราจะมีเห็ดฟางที่มีคุณค่าทางอาหารไว้บริโภค และเป็นการนำเอาผักตบชวา ที่ถือว่า เป็นปัญหาต่อสภาพแวดล้อม กลับมาให้เป็นประโยชน์ โดยการใช้ผักตบชวามาเพาะเห้ดฟางนั้น สามารถใช้ผักตบชวาสดๆทุกส่วนได้เลย ไม่ว่าจะเป็นราก ต้น โคน ใบ เพียงแต่ก่อนใช้ ควรต้องเอามาสับให้เป็นชิ้นเล็ก เพื่อสะดวกแก่การเอามาใช้ และเป็นการฆ่าให้มันตายเร็วยิ่งขึ้น จะได้เป็นอาหารของเชื้อเห็ดฟางได้ ส่วนการเพาะ ก็เพาะเช่นเดียวกับการเพาะแบบกองเตี้ย สำหรับอาหารเสริม จะใช้ก้อนวัสดุเพาะเห็ดเก่า ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อน ก็ได้ ผลผลิตที่ได้ ไม่ต่างจากการใช้วัสดุอย่างอื่นเพาะ ปัจจุบัน เป็นที่น่ายินดี บางชุมชน บางแห่ง เช่น แถวหาดใหญ่ ปัตตานี สงขลา ได้มีการปลูกผักตบชวา แล้วสับขายในราคาเข่งละ 30-50 บาท สำหรับขายให้แก่ผู้ที่จะนำเอาไปเพาะเห็ด จึงกลายเป็นอาชีพเพาะผักตบชวาขายที่น่าสงเสริมยิ่ง

10. เห็ดฟาง-การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน
เห็ดฟาง เป็นเห็ดที่ไม่เหมือนกับเห็ดอย่างอื่น เช่น ไม่เหมือนกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู ซึ่งเห็ดดังกล่าวนิ้ ตามธรรมชาติแล้ว มันขึ้นอยู่ตามธรรมชาติตามต้นไม้ กิ่งไม้ที่ตายแล้ว ดังนั้น การเพาะเห็ดพวกนี้ จึงสามารถได้ง่ายด้วยขี้เลื่อยเพาะในถุงพลาสติก แต่สำหรับเห็ดฟาง ไม่สามารรถทำได้เช่นนั้น เพราะเห็ดฟาง ไม่มีน้ำย่อย ที่มีประสิทธิภาพพอที่จะไปย่อยอาหารบางชนิดเองได้ มันจำต้องอาศัยเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิดในธรรมชาติ ทำการย่อยอาหารเชิงซ้อนให้เล็กลงเสียก่อนที่มันจะเอาใช้ได้ ในช่วงที่จุลินทรีย์ย่อยอาหารนั้น มีทั้งจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และเป็นศัตรูของเชื้อเห็ดฟาง ดังจะเห็นได้จาก การเพาะเห็ดฟาง ไม่ว่า จะเป็นกองสูง หรือกองเตี้ยนั้น หากจะเพาะให้ได้ผลแล้ว จะต้องทำการเพาะที่ใหม่เรื่อยๆ ไม่สามารถเพาะที่เดิมติดต่อกันได้ ในปี 2517 อ.อานนท์ เอื้อตระกูล ได้เป็นผู้ทำการศึกษาวิจัย ทำการเพาะเห็ดในโรงเรือนที่สามารถเพาะซ้ำที่เดิมได้ตลอดปี ด้วยการนำเอาวัสดุเพาะมาทำการหมักแบบไม่ใช้อากาศข้างนอกเสียก่อยน แล้วจึงนำเอาไปหมักแบบใช้อากาศในโรงเรือนอีก 2 วัน จากนั้น จึงทำการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมด ก่อนที่จะทำการใส่เชื้อเห็ดฟางเข้าไป เมื่อใส่เชื้อเห้ดฟางเข้าไปแล้ว 5-6 วัน ทำการเปิดห้องแล้วตัดใยหรือรดน้ำ เปิดให้อากาศบริสุทธิ์เข้า อีก 2-3 วันก็จะมีดอกเห็ดเจริญพอที่จะเก็บเกี่ยวได้ กรรมวิธีนี้เรียกว่า การเพาะเห้ดฟางในโรงเรือนหรือแบบอุตสาหกรรมแบบอานนท์ 2517 ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลแน่นอน และถือว่า เป็นการปฎิวัติวงการเห็ดของประเทศไทย จนกระทั่ง ปัจจุบัน ประเทศไทย ยังคงรักษาแชมป์ ของการเพาะเห็ดฟางมากเป็นที่หนึ่งของโลก และเป็นการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเห็ดฟางในประเทศอย่างยั่งยืนตลอดมา

11. เห็ดฟาง-การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนแบบอานนท์ 2552
หลังจากที่ ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล ได้ค้นพบวิธีการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน ตั้งแต่ปี 2517 ที่ช่วยแก้ปัญหาในอดีต ที่ไม่สามารถเพาะเห็ดฟางซ้ำที่เดิมได้ เป็นการเพาะในโรงเรือน ที่สามารถทำการเพาะซ้ำในที่เดิมได้ตลอดทั้งปี ทั้งยังสามารถใช้วัสดุเพาะได้อย่างหลากหลาย ให้ผลผลิตที่แน่นอนและคุ้มค่าต่อการลงทุน ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็ได้ผลผลิตผลิต มีรายได้แล้ว จนทำให้ประเทศไทย กลายเป็นประเทศที่มีการเพาะเห็ดฟางมากที่สุดในโลก และมีกรรมวิธีที่เหนือกว่าประเทศอื่นใด แต่หลังจาก ที่ ดร.อานนท์ได้เชิญจากองค์การสหประชาชาติ ให้ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ดในหลายประเทศ ในเอเซีย แปซิฟิก แอฟริกา และลาตินอเมริกา ตั้งแต่ปี 2524-2548 นั้น ในปี 2552 ดร.อานนท์ ได้ทำการพัฒนาการเพาะเห็ดฟางแบบอานนท์ 2517 เป็นแบบการเพาะแบบแยกส่วน ด้วย การทำการหมักปุ๋ย เลี้ยงจุลินทรีย์ ทำการเลี้ยงเชื้อเห็ดฟางในกระบะ จากนั้น สามารถนำเอากระบะไปทำการกระตุ้นให้เกิดดอกในสถานที่ที่ใช้สำหรับเปิดดอก ซึ่งสามารถใช้โรงเรือนง่ายๆทดแทนได้ กรรมวิธีนี้ จึงเหมาะอย่างยิ่ง ที่จะทำเป็นกลุ่มสมาชิก โดยแยกงานกันทำ จะทำให้การเพาะเห็ดฟาง เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ได้

ใส่ความเห็น