ถือว่าผมโชคดีที่สุดอีกครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ได้เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์ ดร.ยงยุทธ เจียมไชยศรี ซึ่งท่านเป็นปรมาจารย์ด้านชีวเคมีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และของชาติอย่างแท้จริง ผมจำได้แม่ที่สุดสมัยที่เรียนหนังสือระดับปริญญาตรี อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ช่วงปี 2516-2518 สมัยนั้นผมเป็นนิสิตรุ่นแรกที่มีการจัดสอบเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยแบบรวม โดยไม่มีการแบ่งคณะในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาแบ่งคณะแบ่งภาคกันในปีสอง ผมเป็นเด็กบ้านนอกจากจังหวัดแพร่ ตลอดชีวิตที่เรียนหนังสือ แทบจะไม่เคยไปไหนเลยนอกจากจังหวัดที่ผมเกิด แต่ผมมีความมุ่งมั่นในชีวิตโดยไม่เลือกเป็นอย่างอื่นก็คือ ผมจะเรียนเกษตร แม้ผมติดบอร์ดการสอบ มศ. 5 ของประเทศ โดยได้คะแนนรวมที่ 80.7% ซึ่งก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกแพทย์หรือวิศวกรรม อย่างที่เพื่อนๆเขาเลือกกัน แต่ผมเลือกอยู่อย่างเดียวคือ เกษตร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว และผมก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เป็นลำดับที่ 38 จากการรับนักศึกษาเป็นพัน ทันทีที่ผมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผมก็เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมของชมรมเห็ด ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตั้งแต่เทอมแรกของชีวิตการเป็นนักศึกษา ซึ่งผมได้ทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับเห็ดผ่านทางหนังสือวิชาการต่างประเทศมากมาย โดยผมสนใจในการหาวิธีเพาะและเพิ่มผลผลิตเห็ด ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมี ใช้ฮอร์โมนและจุลินทรีย์มาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น สิ่งนี้เอง ที่ทำให้ผมมุ่งมั่นที่อยากจะเรียนวิชาเคมีและจุลชีววิทยาให้ได้ ด้วยเหตุนี้ ตอนที่ผมเข้าเรียนวิชา ชีวเคมี(Biochem) กับท่านอาจารย์ ดร.ยงยุทธ เจียมไชยศรี ผมจึงมีความสุขและตั้งใจเรียนมาก และผมก็ผ่านการวัดผลการสอบวิชานี้จากท่านไม่ต่ำกว่า B ถึง B+ มีน้อยคนนักที่จะได้ A มีน้อยคนนักที่จะได้ A เพราะใครๆก็รู้ว่าวิชานี้หินมาก ผมนอกจากตั้งใจเรียนวิชานี้อย่างเต็มที่แล้ว ผมก็ได้นำเอาความรู้ไปใช้กับการพัฒนาเรื่องเห็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลของ แมกนีเซียมที่มีผลต่อการเร่งการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด และเร่งการเกิดดอกเห็ด

จนกระทั่งปัจจุบัน การเพาะเห็ดทุกชนิดต้องใช้แมกนีเซียมในรูปของดีเกลือ หรือสารชีเลทแม๊กนีเซียมเข้าช่วยเร่งการเจริญเติบโตของเห็ด และก็เพราะวิชานี้ครับ ที่ผมค่อนข้างจะบ้า(ตามท่านอาจารย์ ดร.ยงยุทธ) ที่ท่านสอนว่า เราสามารถปลูกพืชในน้ำได้โดยไม่ใช้ดิน ผมจึงใช้พื้นที่ในห้องนอนผม ที่หอพัก ตึก 8 (พี่ห้องผมคือ นายประสพ สังฆธรรม หรือ อีตาลุงจุ๊ปของผม) ปลูกสารพัดพืชอยู่ใต้เตียงและในห้องน้ำเมื่อปี 2517 ทั้งหมดนี้ เป็นองค์ความรู้และแรงบันดาลใจ ที่ผมได้จากท่านอาจารย์ ดร.ยงยุทธ ทำให้ผมสนุกอยู่กับงาน และเอาความรู้ที่ได้จากท่าน มาประยุกต์ใช้กับวงการเห้ดมากมาย งานเกษตรแฟร์แทบทุกครั้ง สมัยที่ผมยังเป็นนิสิตอยู่ ผมก็จะนำเพื่อนร่วมงาน นำเอาเรื่องเห็ดมาจัดนิทรรศการและออกงาน ซึ่งเป็นสถานที่ใกล้ที่ทำงานของ ท่านอาจารย์ยงยุทธ

ทุกครั้งที่ท่านเดินทางผ่านและเจอผม ท่านก็กล่าวชื่นชมและแสดงความยินดีให้แก่ผมทุกครั้ง
แน่นอนครับ หลังจากที่ผมไปทำงานในต่างประเทศ ในฐานผู้เชี่ยวชาญเห็ด(อาวุโส) ขององค์การค้าโลก แห่งสหประชาชาติ ระหว่างปี 2524-2548 ทั้งในเอเซียและแอฟริกา

ผมก็ไม่ได้มีโอกาสเจอ  ท่านอาจารย์ ดร.ยงยุทธ อีกเลย จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ หลังจากที่ผมกลับมาจากการไปทำโครงการเพาะเห็ดเศรษฐกิจและเห็ดเป็นยาที่ที่ประเทศมัลดีฟ ผมได้รับมอบหมายให้หาทางที่จะไปปลูกพืชผัก ไม้ผลที่ประเทศนี้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่และต่อเนื่อง ด้วยการนำเทคโนโลยี่ทุกรูปแบบไปใช้ เนื่องจาก ประเทศมัลดีฟ เป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยเกาะที่เกิดจากปะการัง เป็นเกาะเล็กๆกว่าสามหมื่นเกาะ แทบจะไม่ปัจจัยใดๆที่จะเอื้ออำนวยในการปลูกพืชผักและผลไม้เป็นธุรกิจ เพราะแทบไม่มีต้นไม้ ไม่มีดิน ผมจึงคิดว่า เราน่าจะใช้วิธีการปลูกพืชแบบไร้ดิน แต่ก็ไม่ต้องการปลูกพืชในน้ำ ซึ่งยุ่งยาก ลงทุนสูง

ผมมีประสบการณ์ในการปลูกพืชไร้ดินหลายชนิดในช่วงที่ผมทำงานอยู่ในประเทศแถบทวีปแอฟริกาใต้ โดยการปลูกพืชในทรายหรือในขี้กบ หรือในวัสดุเพาะเห็ดแล้วอย่างได้ผล ผมจึงเริ่มกลับมาศึกษาและตามหาแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้ผ่านทางเน็ต จึงได้โทรหาท่านอาจารย์ ดร.จริยา จัทร์ไพแสง ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวการใช้จุลินทรีย์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช และท่านก็แนะนำให้ผมเปิดดูกิจกรรมของท่านในการอบรมเรื่อง การทำการเกษตรแบบใช้ชีววิธี ผมได้เห็น ท่านอาจารย์ ดร.ยงยุทธ มาร่วมเป็นพิธีกรด้วย ผมจึงเรียน ดร.จริยาว่า ผมดีใจที่เห็นภาพ ของอาจารย์ ดร.ยงยุทธ อาจารย์ที่ผมเคารพรัก และผมได้ดิบได้ดีวันนี้ ก็เพราะได้ความรู้และแรงบันดาลใจจากท่าน

ดร.จริยา ได้กรุณา ให้เบอร์โทรศัพท์ ที่เป็นไลน์ของท่านอาจารย์ ดร.ยงยุทธ แก่ผม ทันใด ผมก็รีบทักท่านไป ปรากฏว่า อีกไม่กี่นาทีต่อมา ท่านตอบกลับว่าท่านจำผมได้ดี จำผมในคำเดิมที่เรียกผม คือ “อานนท์หัวเห็ด” ท่านบอกว่าท่านดีใจที่ได้ทราบว่า ผมไปทำอะไรมา และท่านก็ยินดีที่จะให้คำแนะนำในเรื่อง การปลูกพืชไร้ดิน(ไม่จำเป็นต้องปลูกในน้ำ) และท่านก็แนะนำว่า หากจะซื้อปุ๋ยที่แน่นอนได้มาตรฐาน ท่านแนะนำให้ติดต่อกับ ท่านอาจารย์วีรพล นิยมไทย กรรมการบริหาร บริษัท เวสโก้ เคมีประเทศไทย จำกัด ที่สำคัญ ดร.จริยา ได้แจ้งข่าวดีว่า ทางคณะศิษย์ของท่าน จะจัดงานวันมุทิตาจิต รำลึกถึงพระคุณของท่านอาจารย์ ดร.ยงยุทธ เจียมไชยศรี  ขึ้นวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560 ขึ้นที่ ตึกคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งผมตอบรับทันทีว่า ผมต้องมางานนี้ให้ได้ โดยผมไม่ทราบมาก่อนเลยว่า เจ้าหน้าที่ผมได้นัดอบรมเรื่อง “การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ” ขึ้นในวันเดียวกัน ซึ่งผมจำเป็นจะต้องอยู่เป็นผู้สอนหลัก แต่ผมก็ไม่ละความพยายาม ได้เจรจาพูดคุยกับคณะจัดการอบรมว่า ขอให้เลื่อนการอบรมออกไปก่อนได้ไหม

ทีแรก ก็ได้รับการยืนยันว่าไม่ได้ เพราะมีผู้สมัครหลายท่าน ได้ลางาน ได้ซื้อตั๋วเครื่องบินไว้แล้ว ผมจึงให้เจ้าหน้าที่ลองโทรไปขอเลื่อนดู ปรากฏว่า ทุกท่านยอมที่จะให้เลื่อน และผมก็ได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมงานแสดงมุทิตาจิต ให้แก่ท่านอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ที่สำคัญแก่ชีวิตผม และท่านเป็นผู้จุดประกายหลายอย่างให้ชีวิตผม ในเรื่อง ของการปลูกพืชไร้ดิน รวมทั้งได้รับกำลังใจจากท่านมาโดยตลอด

งานที่ผมไปครั้งนี้ ผมได้พาภรรยาและลูกสาวไปด้วย โดยทุกคนภูมิใจ ที่ผมได้เป็นลูกศิษย์ของท่าน อาจารย์ ดร.ยงยุทธ เจียมไชยศรี ยิ่งมาได้รู้ว่าท่านเกิดมาเพื่อเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่จริงๆ โดยในครอบครัวของท่านทุกคน (6-7 ท่าน) เรียนเตรียมอุดมทั้งนั้น และท่านเอง สอบเข้าได้ที่หนึ่งของโรงเรียนเตรียมอุดม เรียนอยู่ในห้องคิง ที่นักเรียนส่วนใหญ่มุ่งที่จะไปเรียนแพทย์ หรือวิศวกรรม แต่ท่านคนเดียวที่ตั้งใจแน่วแน่ จะเรียนเกษตรอย่างเดียว โดยไม่เลือกอย่างอื่นเลย ท่านเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ท่านมาสอบที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะที่ท่านตัวเล็กมาก อาจารย์ที่สอบสัมภาษณ์หัวเราะเยาะเป็นที่ขบขันว่า ตัวเล็กนิดเดียวจะเรียนไหวเหรอ ท่านตอบว่า หากไม่ให้ท่านเรียน ท่านก็จะไม่มีที่เรียนที่ไหนอีกแล้ว เพราะท่านเลือกเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว

พอท่านเข้าเรียนได้แค่สามปี(เรียนไม่จบ)ท่านได้ทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ทั้งระดับปริญญาโทและเอก (เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกา) สำเร็จการศึกษาก็มาเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตลอดชีวิตการทำงาน โดยท่านได้เป็นทั้งผู้สอน ผู้ปฏิบัติ ผู้แนะนำ นักวิจัยและทดลองหลายๆอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ตัวท่าน สังคม และลูกศิษย์ลูกหาของท่านอย่างดีเยี่ยมมาโดยตลอด ท่านเป็นผู้ค้นคิดวิธีการย้อมสีใบเฟรินแห้งให้แก่โครงการหลวง ใช้กรดง่ายๆปรับสภาพน้ำให้แก่วงการกล้วยไม้ และท่านเป็นทั้งผู้เพาะเลี้ยงและผู้สอนเรื่องการปลูกพืชไร้ดินมาตราบจนทุกวันนี้

ในงานวันแสดงมุทิตาจิตจากพี่ เพื่อน น้อง ลูกศิษย์ลูกหาของท่าน เนื่องในโอกาสที่ท่านมีอายุครบ 80 ปีนั้น คณะผู้จัดงานได้ส่งตัวแทนทั้งพี่ เพื่อน น้อง ลูกศิษย์ลูกหา จำนวน 5 ท่าน มากล่าวสดุดี ขอบพระคุณในความเมตตาของท่านอาจารย์ มีตัวแทนท่านหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์ของท่านและเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ KU37 ได้กล่าวสั้นๆว่า มีคำกล่าวของปราชญ์ชาวอเมริกัน ที่ถูกเอามาจารึกไว้หน้าตึกคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรกำแพงแสนว่า ครู คือ ผู้ให้ ผู้สอน ครูที่ดี จะเป็นทั้งผู้สอนและผู้อธิบาย ที่ดีเยี่ยม จะต้องเป็นทั้งนักสอน นักอธิบาย และนักปฏิบัติ แต่ๆๆๆ ครูที่เป็นสุดยอดของครู คือ บุคคล ที่เป็นทั้งผู้สอน ผู้อธิบาย ผู้ปฏิบัติและที่สำคัญผู้สร้างแรงบันดาล ซึ่งสรุปว่า ท่านอาจารย์ ดร.ยงยุทธ คือ เอกบุรุษที่เป็นสุดยอดของครู

ทีนี้พิธีกร คือ ดร.สง่า นักโภชนาการ จากกรมอนามัย KU29 ได้เป็นผู้สัมภาษณ์แทน ถามท่านอาจารย์ยงยุทธว่า ทำไมท่านถึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ไม่เปลี่ยนแปลง ที่จะมาเป็นครู ท่านตอบว่า ตอนที่ท่านไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินนั้น มีศาสตราจารย์ที่เก่งและเป็นที่เคารพนับถือของท่านมากว่า ท่านควรเรียนวิชาให้เป็นเอกทางด้านชีวเคมี เพราะวิชานี้ เป็นวิชาเปรียบเสมือนเสาเข้มของการสร้างอาคารที่มั่นคงถาวร ท่านบอกว่า ประเทศไทย หากจะต้องพัฒนาเรื่องการเกษตร วิชาชีวเคมี ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันเป็นรากฐานสำคัญของวิชาการและสิ่งมีชีวิตแทบทั้งสิ้น โดยมีน้อยคนนัก ที่ต้องการมาทำงานเป็นเสาเข็ม ที่เป็นฐานรากเริ่มแรกที่จะสร้างความมั่นคง ท่านจึงขอเป็นเสาเข็มที่มั่นคงในการสร้างชาติ ซึ่ง ดร.สง่า ขอให้ทุกคนในที่ประชุมปรบมือกันทั้งห้อง โดย ดร.สง่ากล่าวว่า ประเทศไทยนี้แปลกมาก รู้ทั้งรู้ว่า ตึกรามบ้านช่อง หลังเล็กหลังใหญ่ จะอยู่ได้อย่างมั่นคง ก็อยู่ที่ฐานรากและเสาเข็ม แต่เมื่อทำการก่อสร้างอาคารทับเสาเข้มหรือฐานรากไปแล้ว คนส่วนใหญ่ มักจะไม่ให้ความสำคัญของเสาเข็มหรือฐานรากกันอีกต่อไป เฉกเช่น งานที่คุณครูผู้ยิ่งใหญ่ทำมาตลอดชีวิต ที่เป็นผู้ยืนหยัดที่จะสร้างฐานราก พื้นฐานให้แก่ประเทศชาติผ่านลูกศิษย์ลูกหามาเป็นหมื่นเป็นแสน จะมีสักกี่คนที่สำนึกถึงบุญคุณนี้

ครับ นี่เป็นแค่เศษเสี้ยวของกิจกรรมที่ทรงคุณค่าที่ผมและครอบครัวโชคดีได้เข้าไปร่วมแสดงมุทติจิตทำความเคารพผู้มีพระคุณ และผมก็เป็นลูกศิษย์ท่านคนหนึ่ง ที่ดำเนินตามรอยเท้าท่านมาโดยตลอดครับ
งานดีดีใจมาก ที่ได้มีโอกาสเจอปรมาจารย์ทางด้านการเกษตรมากมาย ตลอดจนเพื่อนรุ่นเดียวกัน ที่จบปริญญาเอก ทางด้านการปลูกพืชไร้ดินมาด้วย