นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาและร่วมมือกัน ในการจัดทำเวปของอานนท์ไบโอเทคขึ้น โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับเห็ดของ ดร.อานนท์  เอื้อตระกูล ที่เกิดมาในครอบครัว ที่เริ่มทำเห็ดมาตั้งแต่อายุยังเยาว์วัยและได้เข้ามาร่วมเป็นตัวตั้งตัวตีในการตั้งชมรมเห็ด ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น เมื่อปี 2516 ต่อมาภายหลังได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานชมรมเห็ด ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งสมัยนั้น ประเทศไทยแทบจะไม่มีการเพาะเห็ดเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน มีก็เพียงประปรายในการเพาะเห็ดฟางแบบเลียนแบบธรรมชาติแบบกองสูงเท่านั้น ส่วนใหญ่ประเทศไทย ยังนำเห็ดหลายชนิด เช่น เห็ดหอม เห็ดหูหนู เห็ดหูหนูขาว จากต่างประเทศเข้ามาบริโภค แต่หลังจากมีการฝึกอบรมและการส่งเสริมการเพาะเห็ดกันอย่างจริงจัง โดยการนำของ ดร.อานนท์  เอื้อตระกูล ที่เปิดอบรมเห็ดให้แก่ผู้สนใจทั่วไป ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เวลาผ่านไปแค่ 5 ปีกว่าๆ ประเทศไทย สามารถเพาะและผลิตเห็ดฟางได้มากถึงปีละ 60,000 ตัน มากที่สุดในโลก

ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการตื่นตัวเรื่องเห็ด ทั้งทางภาครัฐ และเอกชน โดยมีการนำเอาเห็ดสายพันธุ์ต่างๆเข้ามาทดลองเพาะและได้ผลหลายชนิด เช่น เห็ดหูหนู เห็ดนางรม เห็ดหลินจือ เห็ดเป๋าฮื้อ และเห็ดแชมปิญองหรือ เห็ดกระดุม และขณะที่ ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล ได้รับเชิญจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ให้ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ด ประจำประเทศภูฎาน ระหว่างปี 2524-2528 ก็ได้นำเอาสายพันธุ์เห็ดจากธรรมชาติมากมายหลายชนิด ที่ผ่านการทดสอบเบื้องต้นแล้วที่ประเทศภูฎาน แล้วส่งกลับมาเพาะและเผยแพร่ในประเทศไทย เช่น เห็ดนางฟ้าภูฎาน(ที่โด่งดัง กลายเป็นเห็ดประจำชาติของไทยในปัจจุบัน) เห็ดหูหนูดำ เห็ดหอมสายพันธุ์อบอุ่น เห็ดหัวลิง เห็ดหลินจือแดงและดำ เห็ดตับเต่า เป็นต้น ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทย กลายเป็นประเทศอยู่ในลำดับต้นๆของโลกในการพัฒนาเกี่ยวกับเห็ด ที่สำคัญ ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องเห็ดเป็นยาให้ทันสมัยต่อสถานการณ์ทัดเทียมกับต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะประสพผลสำเร็จในการแนะนำส่งเสริมให้คนไทยหันมาสนใจในเรื่องเห็ด ทั้งการผลิตและการบริโภค ทำให้ประเทศไทย ที่เคยบริโภคเห็ดเพียง 235 กรัมต่อคนต่อปีในปี 2516 มาเป็นมาเกือบ 10,000 กรัมต่อคนต่อปีในปี 2556 ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ที่สูงใกล้เคียงหรือสูงกว่าประเทศที่เจริญแล้ว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ วิธีการเพาะหรือ การผลิตเห็ดที่ถือปฏิบัติกันอยู่ในประเทศไทย แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปเลย เรายังยึดมั่นถือมั่นกับวิธีการเพาะแบบเดิมๆ เช่น การใช้วัสดุเพาะใส่หรือบรรจุในถุงพลาสติกที่จะต้องใช้แรงงานมหาศาล และเรายังยึดอยู่กับวัสดุเพาะเพียงอย่างเดียว คือ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา นอกจากนี้ เรายังทำการเพาะเห็ดกันแบบง่ายๆ อาศัยแบบธรรมชาติ จึงทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่สม่ำเสมอ บางฤดูก็ได้ผลผลิตดี บางฤดู เช่น ฤดูร้อนกลับได้ผลผลิตที่ลดลงหรือแทบจะไม่ได้เลย และยังมีปัญหาระบาดของโรคและแมลงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีการใช้ยา ใช้สารพิษในการควบคุมศัตรูของเห็ดเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

ปัจจุบัน จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเลย ที่ประเทศไทย ก็ยังจำเป็นที่จะต้องนำเห็ดสดๆจากต่างประเทศเข้ามาบริโภคมากถึงปีละกว่า 300,000 ตัน ขณะที่เราเองผลิตได้มากถึง 600,000 ตันอยู่แล้ว ในฐานะที่สถาบันอานนท์ไบโอเทค ที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะกิจ ตั้งแต่เมื่อครั้ง ดร.อานนท์ยังเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(ตอนนั้นตั้งชื่อ เป็นชมรมผู้เพาะเห็ดสมัครเล่น) ตอนรับราชการที่กรมวิชาการเกษตร(ตั้งชื่อว่า ชมรมเห็ดสากล) และปัจจุบันคือ อานนท์ไบโอเทค ซึ่งถือว่า ข้อห่วงใยทั้งหลาย ทั้งมวล คือ ภารกิจที่จะต้องนำพาสมาชิกและผู้สนใจเกี่ยวกับเห็ด หันมาศึกษาเกี่ยวกับวิธีการพัฒนาวงการเห็ดของไทย ให้เจริญก้าวหน้า และทันสมัยต่อเหตุการณ์ ลำพังแต่เพียงอานนท์ไบโอเทคแต่เพียงองค์กรเดียว คงไม่สามารถดำเนินการทุกอย่างให้ลุล่วงไปได้ทั้งหมด การทำเวปนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีจิตมุ่งหมายเฉกเช่นเหตุผลที่กล่าวมา และได้รับความกรุณาในการทุ่มเททุกสรรพกำลังของครอบครัวคุณสรชัยและคุณจิน่า ที่อยู่ที่อเมริกา ช่วยกันพัฒนาเวปนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการนำเสนอสิ่งที่ทางอานนท์ไบโอเทคต้องการนำเสนอต่อสาธารณชน ไม่เพียงแต่เฉพาะคนไทยเท่านั้น ยังหมายครอบคลุมไปยังผู้สนใจทั่วโลกอีกด้วย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เวปนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกและท่านที่สนใจเกี่ยวกับเห็ด และจะเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมความคิดเห็นและปัญหาต่างๆเกี่ยวกับเห็ด เอามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันในเวปแห่งนี้ด้วยครับ จึงขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเวปนี้ขึ้นมาจากใจจริง

[envira-gallery slug=”opening”]

Similar Posts