ผมเคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่า ผมได้มุ่งมั่นในการผลักดันเรื่องการเพาะเห็ดในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2516 ตั้งแต่ประเทศไทยเพาะเห็ดฟางแบบเลียนแบบธรรมชาติเท่านั้น เห็ดส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งๆที่สภาพดินฟ้า อากาศ วัสดุเพาะเห็ดของประเทศไทยเหมาะสมเหลือเกิน ในช่วงแรกๆนั้น คนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 7 ขวบ เป็นโรคขาดอาหาร ที่ไม่ได้หมายความว่า ทานอาหารไม่อิ่มทองน๊ะครับ แต่ขาดอาหาร เพราะขาดอาหารที่สำคัญ คือ โปรตีน ในเมื่อ เห็ดมันคือ คำตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะ การเพาะเห็ดนั้น มันสามารถใช้สิ่งที่เหลือใช้จากการเกษตร แรงงานที่มีเหลือเฟือ และเห็ดมีสรรพคุณทางด้านโภชนาการและยาสูง ผมและเพื่อนร่วมงานที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ผลักดัน ถ่ายทอดวิชาการเรื่องเห็ดแก่ผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2520 ประเทศไทย กลายเป็นประเทศผู้เพาะเห็ดอยู่ในลำดับต้นๆของโลก โดยได้มีการนำเห็ดแทบทุกชนิดที่ทั่วโลกเขาเพาะกัน เอามาเพาะในบ้านเราก็ได้ผลแทบทุกชนิด

ปัจจุบัน มีผู้ที่ยึดอาชีพการเพาะเห้ดกันเป็นเรือนหมื่นเรือนแสนกระจายไปทั่วประเทศ ทำให้เรามีเห็ดหลากหลายราคาไม่แพงบริโภคตลอดทั้งปี ทำให้ปัญหาเรื่องโรคขาดอาหารน้อยลงไปมาก จนไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของประเทศอีกต่อไป ที่สำคัญ สามารถสร้างอาชีพที่ดีให้แก่คนไทยมากมายมหาศาล โดยรวมถึงแรงงานแฝงที่อยู่ตามบ้าน เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งคนพิการบางส่วน ก็สามารถที่จะทำกิจกรรมเรื่องการเพาะเห็ดได้

แน่นอนครับ แม้วิธีการเพาะเห็ดของเรา ยังไม่มีการพัฒนาทางด้านวิชาการไปมากนัก เพราะผู้เพาะเห็ดส่วนใหญ่ ยังผูกติดหรือยึดติดอยู่กับกรรมวิธีเดิมๆ หรือยังต้องรอให้นักวิชาการด้านเห็ด ออกมาฟันธงหรือชี้แนะเสียก่อนว่า ควรจะต้องพัฒนาอย่างไร ขณะที่ในส่วนราชการหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่อง การวิจัยเกี่ยวกับเห็ดโดยตรง แทบจะไม่มีข้าราชการหรือนักวิชาการที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเห็ดเหลืออยู่เลย ในส่วนของเอกชน แม้ว่า จะมีการประดิษบ์คิดค้น สร้างเครื่องมือ เครื่องจักรมาช่วยจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้นพอสมควร แต่ส่วนใหญ่ ก็ยังทำการเพาะเห็ดในถุงพลาสติก ที่ยังต้องใช้แรงงานคนดำเนินการอยู่ ผมไม่ได้คัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับการใช้เครื่องไม้เครื่องมือมาทำการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต เพราะขบวนการผลิตบางขั้นตอน เช่น การหมักวัสดุเพาะ ที่จะต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ทางอานนท์ไบโอเทค ก็ยังจำเป็นต้องใช้รถแบ๊คโฮขนาดเล็กช่วยในการกลับกองและผสมอาหารเสริมตลอดขบวนการ สำหรับการบรรจุถุงนั้น ทางอานนท์ไบโอเทค ก็ได้สนับสนุนส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องบรรจุถุงหรือเครื่องอัดก้อนมาหลายรูปแบบ เพียงแต่ ผู้ที่ทำการเพาะเห็ดมือใหม่ หรือฟาร์มขนาดเล็ก ในครอบครัวนั้น ควรเริ่มหาประสบการณ์จากการบรรจุก้อนวัสดุเพาะเองด้วยตัวเองเสียก่อน ในบางท้องที่ เช่น ผู้ผลิตก้อนเชื้อจำหน่าย ที่อยู่แถวราชบุรี นครปฐม แม้มีฟาร์มขนาดใหญ่ใช้เครื่องจักร เครื่องบรรจุก้อนด้วยเครื่องบรรจุก้อน แต่ก็มีบางกลุ่ม ที่ยังถือว่า ยังเยอะอยู่ ยังนิยมใช้แรงงานคนเป็นผู้บรรจุก้อน โดยมีการรับจ้างตีก้อนแบบเหมา แล้วทำกันเป็นกลุ่มรับจ้างตีก้อนโดยเฉพาะแบบมืออาชีพ ที่ก้อนที่ตีออกมาแล้ว มีคุณภาพไม่แพ้การใช้เครื่อง แถมเปอร์เซ็นต์ถุงขาดมีน้อย ไม่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมืออะไรให้ยุ่งยากมากนัก ผู้รับเหมาตีก้อนบางราย มีความสามารถพิเศษ ที่สามารถตีก้อนได้วันละ(8.00-17.00 น. พักทานอาหารกลางวัน 30 นาที) 1,00-1,500 ก้อน

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงที่ปิดภาคเรียนระยะยาวนี้ ได้มีเด็กนักเรียนมาขอฝึกงานและทำงานด้วยเพื่อเป็นการเสริมทักษะและรายได้เสริมช่วยเหลือผู้ปกครองนั้น ทางอานนท์ไบโอเทค จึงได้ว่าจ้างกลุ่มที่รับเหมาตีก้อนจากนครปฐม มาสาธิตจากของจริงประกบกับเด็กฝึกงาน เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจและทักษะจากการปฏิบัติ เพื่ออนาคต จะได้นำเอาความรู้จากการปฏิบัติไปใช้ได้