เมื่อหลายอาทิตย์ก่อนผมกับครอบครัวไปเดินเขาเหมือนทุกๆ ครั้ง ครั้งนี้เป็นช่วงที่ฝนกำลังตก เมื่อผมขับรถมาถึงช่วงตีนเขาก็ได้สะดุดตากับเห็ดป่าที่มีขายอยู่ข้างทาง ทำให้รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้มีโอกาสเดินเขาในครั้งนี้ ระหว่างช่วงขึ้นเขาก็มักพบเห็นมอเตอร์ไซค์จอดอยู่ตามทาง แต่ละคนจะมีกระสอบประจำตัวคนละใบ เมื่อเห็นดังนี้ก็เดาได้ไม่ยากเลยว่าพวกเขากำลังเก็บเห็ดอยู่นั่นเอง ผมเริ่มคิดว่า การเก็บเห็ดคือการขัดวงจรนิเวศน์และทำลายป่าหรือเปล่า?” 

ภาพของเห็ดหิ้งที่กำลังเบ่งบานบนซากต้นไม้ใหญ่

ธรรมชาติ และ เห็ด

เชื้อราชั้นสูงอย่างเห็ดที่เราพบได้ทั่วไปในสภาพแวดล้อมที่มีต้นไม้ นอกจากทำหน้าที่เป็นผู้สร้าง โดยเป็นอาหารให้กับแมลง, สัตว์ และคนแล้ว มันก็ยังมีหน้าที่ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในระบบนิเวศน์ นั่นคือเป็นตัวทำลาย นั่นคือมันช่วยเร่งให้เกิดการย่อยสลายของพืชที่ตายแล้วให้เร็วขึ้น นอกจากนี้เชื้อราเห็ดยังมีคุณสมบัติพิเศษในการปล่อยเอ็นไซม์เพื่อย่อยโมเลกุลขนาดใหญ่ให้เล็กลง เปรียบเสมือนเป็นโรงงานรีไซเคิลในป่า เปลี่ยนจากพืชที่ตายแล้วให้กลายเป็นแร่ธาตุต่างๆ ที่วงจรชีวิตอื่นๆ ต้องการ เช่น คาร์บอน, ไฮโดรเจน, ไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส, และอื่นๆ

ถ้าเราคอยสังเกตุต้นไม้ที่กำลังจะตาย เรามักพบเห็ดจำพวกหนึ่งเกาะอยู่บริเวณลำต้น และโคน เช่น เห็ดหอม, เห็ดนางรม, เห็ดไมตาเกะ, เห็ดหัวลิง, เห็ดหลินจือ ฯลฯ เห็ดเหล่านี้ถือเป็นจำพวกแรกซึ่งเชื้อของมันสามารถเจาะทะลุทะลวงเข้าไปในเนื้อเยื่อไม้ได้ เช่นเดียวกับเชื้อเห็ดราจำพวกเห็ดถั่งเช่าที่สามารถทะลุทะลวงในเนื้อเยื่อของแมลงและหนอน

เห็ดจำพวกต่อมาคือพวกที่อาศัยการย่อยสลายจากพวกแรกบวกกับเชื้อแบคทีเรีย, เชื้อรา รวมไปถึงยีสต์ในการทำงานร่วมกัน ได้แก่เห็ดกระดุม, เห็ดโคนน้อย ฯลฯ หรือกล่าวง่ายๆ คือเชื้อเห็ดราต่างชนิดก็มีหน้าที่ในการย่อยสลายในสภาวะที่ต่างกัน จากต้นไม้จนกลายเป็นดินที่มีสภาพสมบูรณ์ เต็มไปด้วยแร่ธาตุและจุลินทรีย์ที่หลายหลาย มีหนอนในดิน มีนกมากินหนอน พร้อมกันนั้นก็คาบเอาเมล็ดพันธุ์พืชมาด้วย คือเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งของระบบนิเวศน์

เชื้อเห็ดราอีกจำพวกหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือเห็ดจำพวกไมคอร์ไรซา เช่นเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ, เห็ดทรัฟเฟิล, เห็ดมัตซึทาเกะ, เห็ดผึ้งหรือเห็ดตับเต่า ฯลฯ ซึ่งพวกมันจะเกาะอยู่ที่รากของพืชตั้งแต่หญ้าไปจนถึงไม้ใหญ่ พวกเราอาจนึกไม่ถึงว่าใต้ดินที่เราเหยียบอยู่นี้ ใต้ฝ่าเท้าของเรามีไมคอร์ไรซาที่เมื่อเอามันออกมายืดมันจะมีความยาวมากถึง 450 กิโลเมตร ในขณะที่เรามองดูต้นไม้รอบๆ ตัวเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเข้าไปในป่าที่เต็มไปด้วยพรรณไม้ต่างชนิด เรามักพบว่าต้นไม้ต้นเล็กๆ ก็สามารถเติบโตขึ้นได้ภายใต้ร่มเงาที่ยิ่งใหญ่ พวกต้นไม้จำนวนไม่น้อยที่ได้อาศัยการดูแลเอาใจใส่จากพี่เลี้ยงที่เป็นพืชในบริเวณนั้นผ่านพวกเชื้อราใต้ดินที่เรียกว่าไมคอร์ไรซานั่นเอง  แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์หลายคนก็เรียกโครงข่ายใต้ดินเหล่านี้ว่าเป็นต้นกำเนิดของอินเตอร์เน็ตที่ซ้อนเร้นอยู่ใต้ดินมาเป็นเวลาช้านาน นอกจากต้นไม้ใหญ่ที่สูงกว่า สามารถให้อาหารที่จำเป็นกับต้นเล็กๆ ที่ไม่มีโอกาสได้รับแสงแดดแล้ว ต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุมากก็ยังสามารถถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้เช่นการเอาชนะต่อแมลง ไปยังต้นเล็กๆ ผ่านทางเส้นใยเห็ดพาเอาประจุไฟฟ้าและแร่ธาตุที่สำคัญไม่ต่างจากสังคมมนุษย์ที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ประสบการณ์ หรือช่วยเหลือสังคมให้อยู่รอดปลอดภัยไปพร้อมๆ กัน 

จะเห็นได้ว่าเชื้อเห็ดรานั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อระบบนิเวศน์ เปรียบเสมือนเป็นแหล่งกำเนิดของดิน, เมื่อทำงานร่วมกับสิ่งมีชีวิตเล็กๆอื่นๆแล้วก็ก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ขึ้นตามมาเป็นลำดับ จะว่าไปแล้วเชื้อราอาจเป็นสิ่งมีชีวิตสุดท้ายบนโลกใบนี้ แม้ว่าเชื้อราจะมีอยู่มากมายแม้ทุกลมหายใจที่เราใช้ก็มีเชื้ออยู่ แต่การรักษาให้เกิดความสมดุลย์ย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่าการที่มนุษย์เราเข้าป่าไปใช้ทรัพยากรที่มีค่าเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในป่าหรือไม่  ในความเห็นส่วนตัวแล้วเชื่อว่าการที่มนุษย์ได้มีโอกาสใช้ทรัพยากรในป่าก็ถือว่าเราก็เป็นผู้ทำให้เกิดความสมดุลย์เช่นกัน ตราบใดที่มนุษย์เราไม่กำหนัดเกินธรรมอยากได้มากจนเกินที่ธรรมชาติจะให้ได้ เช่นการเผาป่าเพื่อเร่งการขยายพันธุ์ของเห็ดแต่ก็เป็นการทำร้ายเผ่าพันธุ์ของมันไปจนหมดเช่นกัน ในทางกลับกันบางทีการที่เราเข้าไปเอาเห็ดจนหมด ก็อาจมีผลกระทบไม่เท่ากับการที่เราสร้างทางเดินที่สวยงามในป่าเพียงเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้มีคนมามากมาย

อยู่ร่วมกัน

แต่ในที่สุดเมื่อบนโลกใบนี้ยังมีป่าเหลืออยู่ สิ่งที่เราพอทำได้เพื่อสามารถอยู่ร่วมกันนอกจากกฏหมาย นั่นก็คือความรู้ที่ทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงผลกระทบต่างๆต่อการกระทำของตนเอง ตราบใดที่เรายังสอนลูกเล็กๆของเราว่า “ห้ามเดินเข้าไปในโคลนลูก! เดี๋ยวจะเปียก” ลูกของเราก็จะไม่เคยรู้เลยว่าจริงๆแล้วอาการเปียกที่เกิดขึ้นจะดีหรือไม่ดีอย่างไร แค่เพียงที่เราไม่อยากให้ลูกเปื้อนโคลน เพื่อที่จะได้ไม่เป็นภาระของเราเองนั้นหรือ ?

สิ่งที่เราควรตระหนักมากที่สุดเมื่อเข้าไปเก็บเห็ดในป่า(ไม่ได้เป็นเขตหวงห้าม) ก็คือ

  • เป็นอาหารสำหรับทุกชีวิต : เมื่อเราเก็บเห็ดในหนึ่งกอ ก็เหลือส่วนหนึ่งไว้ให้แก่สิ่งมีชีวิตรอบๆ เช่นแมลง, หอยทาก หรือสัตว์อื่นๆ บ้าง
  • ให้โอกาสในการขยายพันธุ์ : เก็บดอกที่บานแล้ว เหลือดอกตูมเอาไว้ (ดอกเห็ดที่บานแล้วส่วนใหญ่ได้คลายสปอร์ออกมาแล้ว), ใส่เห็ดในตระกร้าหรือภาชนะที่มีรูระบายสปอร์ เพื่อกระจายสปอร์ให็กว้างออกไป, หลีกเลี่ยงการใช้มีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อกับเชื้อเห็ดที่ยังมีชีวิตอยู่ใต้ดิน
  • ใส่ใจที่อยู่และเพื่อนของเห็ด : มองไปรอบๆ ระหว่างที่เรากำลังเก็บเห็ด เรียนรู้ธรรมชาติรอบๆเห็ด เช่น ดิน, ไลเคน(lichen), ตะไคร่ หรือแหล่งน้ำใกล้ๆ การที่เราเพียงบังเอิญเหยียบดินบริเวณนั้นด้วยรองเท้าที่มีน้ำหนัก ก็อาจเป็นการทำลายที่อยู่หรือสภาพแวดล้อมซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของเห็ด
  • ที่สำคัญที่สุดอีกสิ่งหนึ่งคือไม่เก็บไปเป็นจำนวนมากๆ เพื่อความต้องการตามตลาด ทุกครั้งที่เก็บให้นึกเสมอว่า เราจะนำไปให้เพียงพอต่อครอบครัวและเพื่อนรักของเรา (ผู้เขียนไม่ได้เห็นแย้งกับการเก็บเพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่ต้องการให้ผู้อ่านมีความรู้สึกผูกพันกับธรรมชาติ)

สุดท้ายผมมีความหวังว่าเราทุกคนจะสามารถมีชีวิตอย่างมีความสุขภายใต้เงาไม้ที่ยิ่งใหญ่บนโลกใบนี ด้วยการเรียนรู้และตระหนักไปพร้อมๆกัน

อ้างอิง

https://www.modern-forager.com/sustainable-mushroom-picking/

http://www.fungimag.com/spring-2012-articles/LR_Agaricidal.pdf

Mycelium Running : How Mushrooms can Help Save the World by Paul Stamets , page 10-34

Similar Posts

ใส่ความเห็น